หนูเป็นสัตว์ค่อนข้างฉลาด เคลื่อนตัวรวดเร็ว หลบหลีกอันตรายได้เก่ง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หนูอายุประมาณ 3 เดือนสามารถผสมพันธุ์ ตั้งท้องนานประมาณ 19 – 21 วัน และออกลูก ครอกละประมาณ 6 – 10 ตัว มีประสาทรับเสียง กลิ่น และความจำดี ดังนั้นการที่จะป้องกันและกำจัดให้ได้ผลนั้นต้องมีวิธีการที่ดีและถูกต้อง ซึ่งมีแนวทางดำเนินการใหญ่ ๆ 2 วิธีดังนี้ คือ
1. การปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในอาคารบ้านเรือน
2. การทำลายหนูโดยตรง
1. การปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในอาคารบ้านเรือน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมหนูถาวร โดยมุ่งเน้นการกำจัดแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของหนูและการป้องกันปิดช่องทางหนูวิ่งเข้าออกบ้านอาคาร ดังมีรายละเอียดวิธีดำเนินการดังนี้
1.1 การป้องกันไม่ให้หนูเข้าสู่อาคารหรือที่พักอาศัย อาคารที่สามารถป้องกันไม่ให้หนูเข้าได้นั้นจะต้องไม่มีช่องหรือทางเปิดอื่นใดพอที่หนูจะเข้าไปได้ โดยการกรุด้วยตาข่ายหรือสิ่งที่สามารถป้องกันหนูเข้าได้ วัสดุที่ใช้ควรป้องกันการกัดแทะของหนูได้ เช่น คอนกรีต อิฐ หิน เหล็ก หรือกระเบื้องหนา ๆ สำหรับประตูไม้นั้นตามขอบและมุมของด้านล่างควรหุ้มด้วยโลหะเพื่อป้องกันหนูแทะ
1.2 การรวบรวมและกำจัดมูลฝอย จะช่วยทำลายแหล่งอาหารและที่พักอาศัยของหนู เพราะมูลฝอยเปียกแหล่งอาหารของหนู หนูชอบคุ้ยเขี่ยกิน ส่วนมูลฝอย
แห้งหนูใช้ทำรังเพื่อเป็นที่อาศัย จึงควรเก็บมูลฝอยในที่รองรับที่ทำด้วยวัสดุแข็งแรง ใช้งานได้ดี ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันหนูและสุนัขได้ หรือเก็บมูลฝอยใส่ถุงดำก่อนนำไป
กำจัด และจะต้องทำความสะอาดไม่ให้มีเศษอาหาร หรือกลิ่นอาหารอยู่ ท่อน้ำทิ้งไม่ควรมีเศษอาหารค้างทิ้งไว้ ควรทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งไม่ให้อุดตัน
1.3 การเก็บพวกอาหารแห้ง การเก็บอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมให้ปลอดภัยจากหนู จะเป็นการช่วยลดปริมาณแหล่งอาหาร และที่อยู่อาศัยของหนูได้อย่างมาก วิธีการที่เหมาะสมควรวางไว้ในที่ยกพื้น ขาโต๊ะสูงจากพื้นอย่างน้อย 12 – 18 นิ้ว โดยไม่ควรวางชิดข้างฝาและไม่ควรซ้อน ๆ กันจนถึงเพดาน เพราะหนูชอบวิ่งตามแนวข้าง
ฝา บริเวณพื้นด้านที่มีฝาผนังควรทาสีขาวเป็นแนวยาวตลอดฝาผนังทั้งห้อง โดยให้มีความกว้าง 6 นิ้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจร่องรอยต่าง ๆ ของหนูและสะดวกในการทำความสะอาด
2. การทำลายหนูโดยตรง มีอยู่หลายวิธีคือ
2.1 วิธีกล เช่น ใช้กรงดัก กับดัก หรือกาวดัก การวางกับดักหรือกาวดักหนูควรวางไว้ที่ที่หนูมาหาอาหาร ทางเดินของหนู โดยวางชิดกับฝาผนังหรือวางซ้อนตามกองอาหาร สำหรับอาหารที่ใช้เป็นเหยื่อล่อควรเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ
2.2 การใช้สารเคมี เช่น การวางเหยื่อพิษ ต้องระมัดระวังการใช้ให้มาก โดยใช้ตามเอกสารคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเหยื่อพิษที่ใช้ควรเป็นชนิดตายช้า หนูกินครั้งเดียวจะไม่ตายจะต้องกินซ้ำ ๆ หลายครั้ง จึงจะมีสารเคมีจะสะสมอยู่ในตัวหนู ทำให้เลือดไม่แข็งตัว หรือทำลายวิตามินในเลือด ทำให้หนูเลือดตกในและตาย
2.3 การใช้อาหารหนูที่ทำมาจากสมุนไพร ซึ่งกำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย ซึ่งมีทั้งขับไล่หนู และสามารถกำจัดหนูได้โดยตรง ซึ่งสมุนไพรจะปลอดภัย สำหรับมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง
2.4 การใช้สิ่งมีชีวิตช่วยควบคุม โดยเลี้ยงแมว สุนัข ฯลฯ